วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเพาะเห็ดนางฟ้า


การเพาะเห็ดนางฟ้า

เห็ดนางฟ้าเห็ดนางฟ้ามีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดนางรม ชื่อ "เห็ดนางฟ้า"เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย คนไทยบางคนเรียกว่าเห็ดแขก เนื่องจากมีผู้พบเห็นเห็ดนี้ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย พบขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้เนื้ออ่อนที่กำลังผุ ในแถบเมืองแจมมู (Jammu) บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pleurotus sajor-caju (Fr.) Singer เห็ดนางฟ้าถูกนำไปเลี้ยงในอาหารวุ้นเป็นครั้งแรกโดย Jandaik ในปี ค.ศ. 1947 ต่อมา Rangaswami และ Nadu แห่ง Agricultural University, Coimbattore ในอินเดียเป็นผู้นำเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดนางฟ้าเข้ามาฝากไว้ที่ American Type Culture Collection (ATCC) ในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1975 และเมื่อปี ค.ศ. 1977 ทางกองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้นำเชื้อจาก ATCC เข้ามาประเทศไทยเพื่อทดลองเพาะดู ปรากฏว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี
อีกสายพันธุ์หนึ่งเป็นเห็ดที่มีผู้นำเข้ามาจากประเทศภูฐาน มาเผยแพร่แก่นักเพาะเห็ดไทย ได้มีการเรียกชื่อเห็ดนี้ว่า เห็ดนางฟ้าภูฐาน มีหลายสายพันธุ์ซึ่งชอบอุณหภูมิที่แตกต่างกัน บางพันธุ์ออกได้ดีในฤดูร้อนบ้างพันธุ์ออกได้ดีในฤดูหนาว เป็นที่นิยมมาเพาะเป็นการค้ากันมาก
ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้า มีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ดเป๋าฮื้อ และดอกเห็ดนางรม เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อ ดอกเห็ดนางฟ้าสีจะอ่อนกว่า และมีครีบอยู่ชิดกันมากกว่า เห็นนางฟ้าสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานได้หลายวัน เช่นเดียวกับเห็ดเป๋าฮื้อ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่มีการย่อตัวเหมือนกับเห็ดนางรม ด้านบนของดอกจะมีสีนวลๆ ถึงสีน้ำตาลอ่อน ในอินเดียดอกเห็ดมีขนาดตั้งแต่ 5 - 14 เซ็นติเมตร และจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 30 - 120 กรัม เห็ดนางฟ้ามีรสอร่อย เวลานำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นชวนรับประทาน เห็ดชนิดนี้สามารถนำไปตากแห้ง เก็บไว้เป็นอาหารได้ เมื่อจะนำเห็ดมาปรุงอาหาร ก็นำไปแช่น้ำเห็ดจะคืนรูปเดิมได้
เห็ดนางฟ้าเติบโตดีที่ pH. 5 - 5.2 (คือเป็นกรดเล็กน้อย) อุณหภูมิที่เหมาะมากต่อเส้นใยคือ 32 องศาเซลเซียส และสร้างดอกเห็ดได้ดีที่ 25 องศาเซลเซียส เส้นใยสีขาวจัด มีความสามารถเชื่อมต่อเส้นใยได้ดี ให้น้ำตาลในแง่ของอาหารคาร์โบไฮเดรตได้ดีกว่าพวก โพลีแซคคาไรค์ หรืออาหารซับซ้อน

วงจรชีวิต ดอกเห็ดนางฟ้าเมื่อโตเต็มที่จะสร้างสปอร์บริเวณครีบ โดยการปล่อยสปอร์เมื่อแก่ออก เป็นระยะ ๆ เมื่อดอกเห็ดปล่อยสปอร์ออกมาแล้ว สปอร์ก็ปลิวไปตามกระแสลมไปตกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยขั้นต้นมี 1 นิวเคลียส เส้นใยขั้นที่ 1 เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ก็จะมารวมตัวกัน ซึ่งอาจมาจากต่างสปอร์กัน การรวมตัวของเส้นใยขั้นที่ 1 จะเป็นการเชื่อมกัน แล้วถ่ายทอดนิวเคลียสมาอยู่ในเซลเดียวกัน กลายเป็นเส้นใยขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะเจริญเติบโต และสร้างเส้นใยเห็ดแทนเส้นใยขั้นที่ 1 อย่างรวดเร็วบนอาหาร เมื่อเส้นใยขั้นที่ 2 เจริญบนอาหาร และโตเต็มที่แล้ว จะสะสมอาหารแล้วรวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อสร้างดอกเห็ดต่อไป

การเพาะเห็ดนางฟ้า มี 4 ขั้นตอนด้วยกัน

1. เริ่มเรียนรู้วิธีการกินเห็ด เราจะทำธุรกิจเห็ดต้องกินเห็ดเก่ง ต้องปรุงอาหารจากเห็ดหลายชนิด ทำให้อร่อยด้วย สามารถแนะนำผู้ซื้อเห็ดไปปรุงเองได้อย่างมั่นใจ เช่นนี้ทำให้เราพร้อมต่อการขายเห็ด

2. ผลิตดอกเห็ดขาย 90% ของฟาร์มเห็ดที่ทำอยู่เริ่มจากวิธีนี้ โดยทำโรงเรือนขนาดย่อมๆ เพื่อใช้เพาะเอาดอกเห็ด ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มมาผลิตดอก โดยหาความชำนานและความรู้ไปเรื่อยๆ จนเชี่ยวชาญ ขั้นนี้อย่าเพิ่งลงทุนทำถุงเชื้อเอง ให้ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มที่ทำขายดีกว่า เริ่มจากน้อยๆ ทยอยทำ ได้เห็ดมาก็นำไปขายตลาด ขายเองหรือส่งแม่ค้าก็ได้ ขยายตลาดดอกเห็ดเพิ่มมากขึ้นไปเป็นลำดับ จนตลาดใหญ่ขึ้นและสม่ำเสมอดีแล้วจึงคิดผลิตถุงเชื้อ แต่ถ้าตลาดไปไม่ได้ก็หยุดแค่นั้น ไม่ขาดทุนมาก
3. ผลิตถุงเชื้อเห็ด ถ้าตลาดรับซื้อเห็ดและถุงเชื้อมากพอ จึงตั้งหน่วยผลิตถุงเชื้อได้ แต่ถ้าคำนวณว่าซื้อถุงถูกกว่าผลิตเองก็ไม่ควรทำ ควรไปดูฟาร์มทำถุงเชื้อหลาย ๆ ฟาร์ม แล้วมาคำนวณว่าเครื่องมือและวิธีการแบบใดดีที่สุด เตรียมการเอาคนคุมงานไปฝึกงานในฟาร์ม หรือติดต่อจ้างคนชำนาญในฟาร์มเก่ามาทำฟาร์มใหม่ ขั้นตอนนี้ก็ควรซื้อเชื้อข้าวฟ่าง ยังไม่ควรทำเอง การลงทุนขนาดเล็กจะใช้หม้อต้มไอน้ำต่างหาก (สตีมเม่อร์) แล้วต่อท่อมาอบถุงขี้เลื่อยในอีกหม้อต่างหาก ถ้างานนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นสมควร แล้วค่อยผลิตเชื้อข้างฟ่างและซื้อวุ้นต่อไป
4. ผลิตเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่าง เริ่มทำเมื่องานฟาร์มมีขนาดใหญ่มาก สำหรับระยะ 1 - 2 ปี ที่ผ่านมานั้นถ้ายังไม่ทำเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่างมาก่อน ก็ไม่ควรทำขึ้นใหม่ มีผู้ทำขายมากอยู่แล้ว ซื้อเขาใช้ดีกว่า นอกจากจะห่างไกลซื้อยากจริงๆ แล้วต้องใช้มากจึงค่อยทำ

วิธีการ และ วัตถุดิบ

การเพาะเห็ดนางฟ้า หรือเห็ดในสายพันธุ์นางรมทุกชนิดเป็นเห็ดที่กินหรือเจริญได้ในพวกเวลลูโลส เช่นพวกไม้ หญ้า ฟางข้าว แต่ที่นิยมใช้เป็นวัสดกุเพาะได้แก่พวกขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือพวกไม้เนื้ออ่อนทุกชนิด โดยเฉพาะขี้เลื่อยไม้ยางพารามีมากทางภาคใต้ จึงเหมาะในการเพาะเห็ดมาก ก่อนที่ท่านจะทำการเพาะเห็ดนางฟ้าให้ได้ท่านจะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างให้พร้อมดังนี้

1. ขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือไม้เนื้ออ่อน จำนวน100 ก.ก.(ในการทำครั้งละ100ก.ก.)

2. ดีเกลือที่มีขายตามท้องตลาด ราคา ก.ก.ละ 10-20 บาท ใช้ประมาณ 2-3ขีด

3. ปูนขาวหรือยิปซัม จำนวน 1 ก.ก. เพื่อปรับสภาพการเป็นกรดของวัสดุเพาะ

4. รำข้าวละเอียด จำนวน 3-5 ก.ก.

5. ถุงทนร้อนพับก้นขนาด 6 นิ้วครึ่ง คูณ 12 นิ้ว ก.ก.ละ 60-70 บาท (ก.ก.จะบรรจุได้250ถุง)

6. คอขวดสำหรับสวมปากถุง มีจำหน่ายอันละ 35 สตางค์

7.ฝาปิดปากถุง อันละ 65 สตางค์

8. สำลีสำหรับปิดฝา

9. ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร มีฝาปิด(แล้วแต่จะทำมากหรือน้อย 1 ถังบรรจุถุงได้ 80-90ถุง)

วิธีทำ นำขี้เลื่อย จำนวน 100 ก.ก.ดีเกลือ 3 ขีด ปูนขาวหรือยิปซัม 1กก. รำละเอียด 3-5 กก.นำมาคลุกเคล้าผสมให้เข้ากันแล้วใส่น้ำสะอาดลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยอย่าใส่น้ำจนเปียกหรือแฉะทดสอบได้โดยการกำขี้เลื่อยที่ผสมเรียบร้อยแล้วว่าจับกันเป็นก้อนดีหรือไม่โดยไม่มีน้ำไหลออกมาและเมื่อคลายมือออกขี้เลื่อยจับกันเป็นก้อนดีเป็นอันว่าใช้ได้ แล้วนำมาบรรจุถุงใส่ถุงให้เกือบเต็มแล้วอัดให้แน่นอย่าให้หลวม จากนั้นนำคอขวดมาสวมแล้วพับปากถุงลงมาปิดด้วยฝาปิดที่อัดด้วยสำลีเรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าได้ก้อนปุ๋ยแล้ว นำก้อนปุ๋ยที่ได้ไปนึ่งในถัง 200 ลิตรโดยทำชั้นวางก้อนไว้ใส่น้ำทำการนึ่ง โดยจะต้องดูให้น้ำเดือดก่อนโดยมีไอน้ำพุ่งออกมาจึงปิดฝาให้สนิทแล้วเริ่มจับเวลาจะต้องนึ่งให้ได้ 2-3 ชั่วโมง เมื่อได้เวลาแล้วตั้งก้อนปุ๋ยให้เย็นแล้วนำเชื้อเห็ดที่เจริญเต็มที่ในเมล็ดข้าวฟ่างมาเขี่ยใส่ถุง ในการทำทุกขั้นตอนจะต้องมีความสะอาดเพราะเชื้อราอื่นๆที่อยู่ในอากาศจะเข้าไปทำลายได้โดยเฉพาะราเขียวจะทำให้ก้อนเชื้อไม่เดินเส้นใย(สามารถเช็ดด้วยแอลกอฮอล์) จากนั้นปิดด้วยกระดาษไม่ต้องปิดด้วยฝาปิดเพราะจะได้นำไปทำต่ออีก เมื่อเขี่ยเชื้อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้นำก้อนเชื้อไปวางเรียงก้อนใว้ในที่ร่มหรือโรงเรือนที่เตรียมไว้สำหรับการออกดอกก็ได้ โดยเพาะเชื้อไว้2-3วันก็จะเห็นเส้นใยเดินเหมือนใยแมงมุมพักไว้ 25-30 วันก็สามารถเปิดปากถุงรดน้ำแต่อย่าให้น้ำเข้าในถุงจะทำให้ก้อนเชื้อเสียได้ รอประมาณ 5-7 วัน ก็จะเกิดดอกเห็ดขึ้นมาให้ท่านได้ชื่นชมแล้วประมาณ 2-3 วันก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว สามารถเก็บดอกจำหน่ายได้ทุกวันจนครบอายุ 5 เดือน

ราคามาตรฐานอยู่ที่ กิโลกรัมละ 20-25 บาท ( เช็ดราคาจริงตามตลาดอีกที )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น