วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเพาะเห็ดหอม


การเพาะเห็ดหอม

เห็ดหอม

เห็ดหอม คล้ายๆกับเห็ดที่ขึ้นบนไม้อย่างอื่น เช่น เห็ดนางรม แต่เห็ดหอมมีความสามารถที่จะย่อยเซลลูโลส และลิกนิน ได้ดีกว่า จึงเจริญเติบโตได้ดีในไม้เนื้อแข็ง เป็นเห็ดที่นิยมบริโภคกันมานานนับศตวรรษในหมู่ชาวจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้นอกจากมีรสชาติดีและกลิ่นหอมแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีคุณสมบัติทางยาอีกด้วย ถือเป็น ยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง เห็ดหอมมีประสิทธิภาพในการต่อต้านมะเร็ง ลดไขมันในเส้นเลือดและต่อต้านเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไข้หวัด จึงทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานเห็ดหอมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

การเพาะเห็ดหอมวัสดุอุปกรณ์
1. วัสดุเพาะ ที่ได้ผลดี คือ ขี้เลื่อยไม้มะขาม รองมาคือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้กระถินณรงค์หรือขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณหมัก และวัสดุเสริม ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ขี้เลื่อย 100 กก. รำข้าว 5 กก. น้ำตาลทราย 2 กก. ดีเกลือ 0.2 กก. ยิบซั่ม 0.5 กก. ผสมน้ำให้มีความชื้น 55-65%
2. ถุงพลาสติกทนร้อน และอุปกรณ์การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
3. หม้อนึ่งความดัน หรือถังนึ่งไม่อัดความดันพร้อมอุปกรณ์การให้ความร้อนในการนึ่งฆ่าเชื้อ
4. โรงเรือน หรือสถานที่บ่มเส้นใยและให้ผลผลิต
วิธีการเพาะ
1. ผสมวัสดุเพาะและวัสดุเสริมทั้งหมดให้เข้ากัน อย่าให้แห้งหรือแฉะ ให้วัสดุพอจับตัวกันได้ เมื่อบีบดูต้องไม่มีหยดน้ำ เมื่อคลายมือออก ส่วนผสมต้องไม่แตกร่อนออกอย่างรวดเร็ว
2. บรรจุส่วนผสมลงในถุงพลาสติกทนร้อน อัดแน่นพอประมาณ ถุงละ 1/2 -1 กก. ใส่คอขวดปิดจุกสำลี และปิดทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบกันไอน้ำ
3. แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเป็นเวลา 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ด้วยความดัน 15-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (หรือใช้ถังนึ่งไม่อัดความดันก็ได้ผลดีพอควร โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่ไอน้ำเดือดพุ่งตรงสม่ำเสมอ เป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง ต้องรักษาระดับไอน้ำไว้ตลอดเวลาด้วยการปรับความร้อนให้มีอุณหภูมิภายในถังนึ่ง 85-100องศาเซลเซียสตลอดเวลา)แล้วทิ้งให้เย็น
4. แกะกระดาษหรือฝาครอบออก เปิดจุกสำลีแล้วใส่เชื้อเห็ด (นิยมใช้หัวเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่าง) ควรทำในบริเวณที่สะอาด ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค แล้วนำไปบ่มเส้นใย
5. การบ่มเส้นใยระยะเวลาที่บ่มเส้นใย 3-4 เดือน ขึ้นกับน้ำหนักอาหารที่ใช้ หรือมีการสร้างตุ่มดอกประมาณ 2/3 ของก้อนเชื้อ
ปัจจัยที่สำคัญและการดูแลรักษา
1. อุณหภูมิ การบ่มเส้นใยเห็ดหอมที่ดีที่สุดคือที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส การทำห้องหรือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาไม้สำหรับบ่มเส้นใยอย่างง่าย เช่น ทำจากหญ้าคา, จากฟาง, ไม้ไผ่ ฯลฯ ก็ได้ และมีการให้น้ำภายนอกโรงเรือน หรือบริเวณพื้นโรงเรือนเป็นครั้งคราวเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส
2. ความชื้น มีความจำเป็นสำหรับระยะเวลาที่ให้ผลผลิต ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับการเจริญของเชื้อเห็ดหอมอยู่ระหว่าง50-85% ในระยะบ่มเส้นใยไม่ต้องการความชื้นในบรรยากาศเหมือนเห็ดทั่วไป ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำถูกสำลี ซึ่งอาจจะเป็นทางให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้
3. อากาศ การถ่ายเทอากาศที่ดีจำเป็นต่อการเจริญของดอกเห็ด และทำให้มีการสะสมเชื้อโรคน้อยลง ถ้ามีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะทำให้เห็ดมีก้านยาว บางครั้งหมวกเห็ดอาจจะไม่เจริญหรือมีลักษณะผิดปกติอื่น ๆ
4. แสง ช่วยกระตุ้นให้เส้นใยเกิดตุ่มเห็ด สร้างแผ่นสีน้ำตาล และเจริญเป็นดอกเห็ดได้เร็วกว่าที่มืดและยังช่วยให้หมวกเห็ดมีสีเข้มไม่จางซีด
5. การแช่น้ำเย็น หลังจากบ่มเส้นใยสมบูรณ์แล้ว ให้แช่ก้อนเชื้อในน้ำเย็น 2 ชั่วโมง หรือค้างคืนก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก
โรคและศัตรูเห็ดหอม
1. เชื้อรา เป็นศัตรูที่สำคัญของเห็ดหอม ได้แก่ ราดำ ราเขียว ราเมือก ซึ่งจัดว่าเป็นศัตรูที่คอยทำลายเห็ดหอมในก้อนเชื้อและท่อนไม้ เชื้อราพวกนี้จะเจริญเติบโตในที่อับชื้นมากเกินไป อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ดังนั้นจึงควรระวังรักษาโรงเรือนให้สะอาด อย่าให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และศัตรูของเห็ดหอม
2. วัชเห็ด ซึ่งชอบเจริญบนท่อนไม้ระหว่างพักเชื้อ ซึ่งเป็นพวกที่ชอบความชื้นมาก และจะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ดังนั้นโรงเรือนที่ใช้ในการพักเชื้อไม่ควรให้มีความชื้นมากเกินไป และควรให้อากาศระบายถ่ายเทได้สะดวก ส่วนท่อนไม้ที่นำมาเพาะเชื้อต้องระวังอย่าให้เปลือกแตก เพราะอาจทำให้เชื้อวัชเห็ดจากภายนอกเข้าไปเจริญในท่อนไม้ได้
3. เชื้อที่มีลักษณะคล้ายไวรัส อาจแพร่ระบาดทำลายเส้นใยเห็ดหอมได้ ดังนั้นการเลี้ยงเชื้อเห็ดหอมบนอาหารวุ้น ควรตรวจเส้นใยเห็ดหอมตลอดเวลาว่ามีเชื้อไวรัสปลอมปนหรือไม่ ถ้ามีให้คัดทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
ฤดูกาลเพาะที่เหมาะสม ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับสภาพของประเทศไทย จะมีอยู่ประมาณ 4 เดือน คือ เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธุ์ ควรเริ่มทำการเพาะตั้งแต่ เดือนมิถุนายนถึง เดือนกรกฎาคม เพื่อที่จะได้ทำการบ่มเชื้อเห็ดหอมในวัสดุเพาะ มีการเจริญเติบโตเต็มที่และมีการสะสมของอาหารที่มากพอ
การให้ผลผลิต โดยเปิดปากถุงให้ออกดอกทางด้านบนหรือเปลือยก้อนเชื้อโดย แกะถุงพลาสติกออกทั้งหมดให้ก้อนเชื้อสัมผัสอากาศ เป็นการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด ถ้าต้องการเห็ดดอกใหญ่ก็เปิดให้มีการเกิดดอกเป็นบางส่วน การเปลือยก้อนเชื้อจะได้ดอกเห็ดจำนวนมาก แต่ดอกจะเล็ก และอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือถูกกระทบจากสภาพแวดล้อมได้ง่าย ผลผลิตดอกเห็ดสดจะได้ 50-400 กรัมต่อก้อนเชื้อ 1/2 - 1 กก. ขึ้นกับความใส่ใจและเทคนิควิธีการของผู้เพาะเห็ด
การทำแห้งเห็ดหอมทำได้ 2 วิธี
1. การตากแห้งโดยตากแดด จนกว่าดอกเห็ดจะแห้งสนิท ควรหลีกเลี่ยงตากแดดจัดมากเกินไป เพราะจะทำให้ดอกเห็ดไหม้เกรียมและควรคว่ำดอกเห็ดให้ครีบอยู่ด้านใต้ เพื่อป้องกันครีบสีคล้ำ การตากแดดเป็นวิธีลดความชื้นในดอกเห็ดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ดอกเห็ดยุบตัวมากเมื่อดอกเห็ดแห้งสนิทดีแล้ว เก็บในภาชนะที่กันความชื้น มิฉะนั้นอาจจะมีเชื้อราเกิดขึ้นได้
2. การอบแห้งใช้ลมร้อน ค่อย ๆ ลดความชื้นภายในดอกเห็ด ซึ่งจะได้เห็ดที่มีคุณภาพที่ดีกว่าเห็ดที่ตากแดด การอบใช้ อุณหภูมิ เริ่มแรกประมาณ 30 องศาเซลเซียส จากนั้นเพิ่มอุณหภูมิขึ้นทีละ 1-2 องศา ทุก 1 ชั่วโมง จนถึง 50 องศาแล้วเพิ่มให้เป็น 60 องศาและรักษาอุณหภูมิระดับนี้ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มรสชาติ กลิ่น และทำให้ดอกเห็ดหอมมีลักษณะเป็นเงาสวยงาม
ราคาเห็ดหอมโดยทั่วๆไปจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150 - 200 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น